เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
คำว่า เครื่องข้อง ได้แก่ เครื่องข้อง 7 อย่าง คือ

1. เครื่องข้องคือราคะ 2. เครื่องข้องคือโทสะ
3. เครื่องข้องคือโมหะ 4. เครื่องข้องคือมานะ
5. เครื่องข้องคือทิฏฐิ 6. เครื่องข้องคือกิเลส
7. เครื่องข้องคือทุจริต

คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า และเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลก อธิบายว่า ผู้ใด ข้ามได้แล้ว คือ
ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นได้แล้ว ก้าวล่วงแล้ว ล่วงเลยแล้วซึ่งกามและเครื่องข้องที่ละได้
ยาก คือ ประพฤติล่วงได้ยาก ก้าวข้ามได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก ก้าวล่วงได้ยาก
ประพฤติล่วงได้ยากในโลกแล้ว รวมความว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้
ยากในโลกได้แล้ว
คำว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ อธิบายว่า ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่
แปรผันไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไป ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า "ตาของเราแปรผันไป"
ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า
"หูของเรา... จมูกของเรา... ลิ้นของเรา... กายของเรา... รูปของเรา... เสียงของเรา...
กลิ่นของเรา... รสของเรา... โผฏฐัพพะของเรา... ตระกูลของเรา... หมู่คณะของเรา...
อาวาสของเรา... ลาภของเรา... ยศของเรา... สรรเสริญของเรา... ความสุขของเรา...
จีวรของเรา... บิณฑบาตของเรา... เสนาสนะของเรา... คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของ
เรา... มารดาของเรา... บิดาของเรา... พี่ชายน้องชายของเรา... พี่สาวน้องสาวของเรา...
บุตรของเรา... ธิดาของเรา... มิตรของเรา... อำมาตย์ของเรา... ญาติและผู้ร่วมสาย
โลหิตของเราแปรผันไป" รวมความว่า ไม่เศร้าโศก
คำว่า ไม่ละโมบ ได้แก่ ไม่ละโมบ คือ ไม่มุ่งหวัง ไม่เข้าไปเพ่ง ไม่เพ่งถึง
ไม่เพ่งเล็งถึง อีกนัยหนึ่ง ผู้นั้น ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่ต้องเข้าถึงกำเนิด
จึงชื่อว่าไม่ละโมบ รวมความว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :519 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยตัณหาตรัสเรียกว่ากระแส
คำว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
กระแส คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า กระแสนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้
ตัดกระแสได้แล้ว
คำว่า ไม่มีเครื่องผูก ได้แก่ เครื่องผูก 7 อย่าง คือ

1. เครื่องผูกคือราคะ 2. เครื่องผูกคือโทสะ
3. เครื่องผูกคือโมหะ 4. เครื่องผูกคือมานะ
5. เครื่องผูกคือทิฏฐิ 6. เครื่องผูกคือกิเลส
7. เครื่องผูกคือทุจริต

เครื่องผูกเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีเครื่องผูก
รวมความว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก
[184] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :520 }